ประวัติโรงเรียน
|
|
โรงเรียนปากพนัง ตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ (รศ.๑๑๘ สมัย ร.๕) ที่วัดเสาธงทอง ตามคำแนะนำของพระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช (ม่วง ศิริรัตน์) ผู้อำนวยการศึกษามณฑลนครศรีธรรมราช เดิมใช้ชื่อว่าโรงเรียนไพบูลย์บำรุง มีหลวงพิบูลย์สมบัติ นายอำเภอเบี้ยซัด นายผันผู้พิพากษาศาลแขวงเบี้ยซัดและพระทองเจ้าอธิการวัดเสาธงทอง เป็นผู้อุปถัมภ์ ในปีแรก มีนักเรียน ๒๑ คน พระช่วย พระจันทร์ เป็นอาจารย์สอน นายผันรับจะเป็นผู้แนะนำให้อาจารย์ทั้งสอง สอนตามแบบหลวงให้ได้ ผู้อุปถัมภ์และราษฎรช่วยกันจัดโรงเรียนขึ้นหนึ่งหลัง พื้นฝากระดานหลังคามุงจากผู้ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ โรงเรียนไพบูลย์บำรุง ตามลำดับดังนี้
๑. นายห่อ จันทราทิพย์ (ลาออกไปรับราชการกรมไปรษณีย์)
๒. พระภิกษุเลี่ยม สิงหพันธ์ (ลาอุปสมบทไปรับราชการแผนกคลัง)
๓. นายบัว ไชยนุพงศ์ (ลาออกไปรับราชการที่อำเภอหัวไทร)
๔. นายเจริญ วราภรณ์ (ลาออกไปรับราชการที่อำเภอหัวไทร)
๕. ราชบุรุษบุญช่วย กาญจนาภรณ์ (เป็นธรรมการอำเภอ)
๖. นายพร้อม มณีสาร ป. (เป็นธรรมการอำเภอ)
๗. นายเจริญ วราภรณ์ (มารับตำแหน่งครูใหญ่ ครั้งที่ ๒)
ต่อมาทางการได้สร้างอาคารเรียนขึ้น ตรงที่เป็นโรงเรียนเทศบาลปากพนัง ๑ เวลานี้ ๑ หลัง เปิดเรียนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๕
ใน พ.ศ. ๒๔๗๔ สมัย นายพร้อม มณีสาร เป็นครูใหญ่ ได้เริ่มเปิดเรียนถึงชั้นมัธยมปีที่เป็นปีแรกและได้ขยายชั้นเรียนปีละชั้น จนถึง ม.๔ พ.ศ. ๒๔๗๘ คุณครูเจริญ วราภรณ์ เป็นครูใหญ่ผู้ประสงค์จะเรียนถึงชั้น ม.๕ ต้องไปเรียนที่สถานศึกษาจังหวัดหรือจังหวัดอื่น
พ.ศ. ๒๔๘๑ ครูถัด พรหมมานพ ย้ายจากโรงเรียนประจำจังหวัดพัทลุง มาเป็นครูใหญ่ในปีนั้น โรงเรียนเปิดสอนชั้น ม.๕
พ.ศ. ๒๔๘๒ สอนถึงชั้น ม.๖ เป็นครั้งแรก ถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๑ นักเรียนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ที่เรียนเดิมมีไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนจึงย้ายไปเรียนที่วัดนันทาราม สร้างอาคารชั่วคราวขึ้น ๑ หลัง หลังคามุงจาก ฝากั้นจากเพียงครึ่งเดียวพื้นห้องเป็นดินทราย นอกจากเรียนที่อาคารหลังนี้แล้วยังใช้วิหาร โรงครัวและอุโบสถเป็นที่เรียน
พ.ศ. ๒๔๘๑ ทางราชการได้สร้างอาคารเรียนถาวรขึ้น ณ ที่โรงเรียนปากพนังปัจจุบัน ๑ หลัง เปิดเรียนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็นโรงเรียนมัธยมโดยเฉพาะ มีนักเรียนตั้งแต่ชั้น มัธยมศึกษาปีที่ ๑ ถึง มัธยมศึกษาปีที่ ๖ มี นายถัด พรหมมานพ เป็นครูใหญ่
พ.ศ. ๒๔๘๗ สมัย นายบูรณะ ศรีดิษฐ์ เป็นครูใหญ่ ไฟไหม้โรงเรียนทั้งหลัง ในวันเกิดไฟไหม้ ครูใหญ่ คณะครู นักเรียน ภารโรง ไปทอดกฐินที่วัดแหลมตะลุมพุก เจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานว่าเป็นการลอบวางเพลิง แต่จับตัวคนร้ายไม่ได้ ทางโรงเรียนปากพนัง จึงไปติดต่อสถานที่เรียน ขอฝากนักเรียนที่วัดนันทาราม วัดเสาธงทองและโรงเรียนสตรีปากพนัง ทำให้การเรียนการสอนขลุกขลักมาก เพราะครูบางคนต้องสอนถึงสามแห่งนั้น (เดินสอน)
พ.ศ. ๒๔๙๐ นายฟอง ลักษณา คหบดีปากพนัง ได้บริจาคเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท สมทบกับเงินงบประมาณ ๖๐,๐๐๐ บาท สร้างอาคารเรียนถาวร เป็นอาคารไม้ ๒ ชั้น ชื่อว่า “อาคารลักษณา” มี ๑๐ ห้องเรียน เปิดใช้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑
พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้รับประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท สร้างต่อเติมอีก ๒ ห้องเรียน เป็น ๑๒ ห้องเรียน
พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้รับงบประมาณ ๑๗๐,๐๐๐ บาท สร้างต่อเติมอีก ๖ ห้องเรียน รวมเป็น ๑๘ ห้องเรียน การขยายตัวของนักเรียนในอำเภอปากพนังเพิ่มขึ้น ประชาชนเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา ได้บริจาคเงินสร้างอาคารเรียน “ประชาอุทิศ ๑” ในวงเงิน ๔๑,๐๐๐ บาท รวมกับเงินบำรุงการศึกษาสมบทอีก ๘,๐๖๕ บาท
พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้รับงบประมาณสร้างห้องประชุม-โรงอาหาร ๒๐๐,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๑๙ ประชาชนร่วมกันบริจาคเงินสร้างอาคารเรียนอีก ๑ หลัง เป็นหลังที่ ๒ คือ “อาคารเรียนประชาอุทิศ ๒” จำนวนเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๑๙ เริ่มเปิดสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
พ.ศ. ๒๕๒๐ ทางราชการได้ให้งบประมาณแบบ ๒๑๘ ค. ๑๘ ห้องเรียน งบประมาณ ๓,๒๐๐,๐๐๐ บาท ๑ หลัง (อาคาร ๘) สมัย อ.ประดิษฐ์ วังสะวิบูลย์
พ.ศ. ๒๕๒๒ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ยุบโรงเรียนปากพนัง (ประถมศึกษาตอนปลาย) รวมกับโรงเรียนปากพนัง เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๒ ทำให้โรงเรียนปากพนังเพิ่มอาคารเรียน แบบ ๐๔๔ จำนวน ๓ หลัง รวม ๒๔ ห้องเรียน แบ่ง ๒ เขต โดยมีโรงเรียนเทศบาลปากพนัง ๑ คั่นอยู่ระหว่างกลางห่างกันประมาณ ๕๐ เมตร
พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้รับงบประมาณในการสร้างหอประชุม โรงยิม งบประมาณ ๑,๘๐๐,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๒๔ กรมสามัญศึกษา ได้จัดสรรเงินงบประมาณสร้างอาคารเรียน ๓๑๘ ค. ให้อีก ๑ หลัง ในวงเงิน ๕,๑๐๐,๐๐๐ บาท สร้างเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ (อาคาร ๖)
พ.ศ. ๒๕๒๙ กรมสามัญศึกษา ได้จัดสรรเงินงบประมาณ สร้างอาคารเรียนแบบ ๔๑๘ ค. ๑๘ ห้องเรียน ในวงเงิน ๕,๕๐๐,๐๐๐ บาท สมัย อ.หิรัญ บุปผา เป็นผู้อำนวยการ (อาคาร ๑๐)
พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้รับเงินบริจาคจากธนาคารแห่งประเทศไทย โดย คุณกำจร สถิรกุล ผู้อำนวยการธนาคารแห่งประเทศไทย ศิษย์เก่าต่อเติมอาคารเรียน ๔๑๘ ค. ชั้นล่างเป็นห้องโสตทัศนศึกษา ด้วยงบประมาณ ๑๕๙,๐๐๐ บาท สมัย อ.เรืองเกียรติ อัฐพร และในปีนี้ทางโรงเรียนปากพนัง ได้ขยายการศึกษาเพิ่มขึ้นที่แหลมตะลุมพุก โดยที่คณะครู อาจารย์ จากโรงเรียนปากพนังเดินทางมาสอนถึงแหลมตะลุมพุกทุกวัน
พ.ศ. ๒๕๔๒ โรงเรียนปากพนัง ฉลองครอบ ๑๐๐ ปี
พ.ศ. ๒๕๕๓ โรงเรียนปากพนังได้รับรางวัลโรงเรียนรางวัลพระราชทานประจำปีการศึกษา ๒๕๕๓
|